ครั้งที่ 11/2564
มติที่ 252/2564
เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า มหาเถรสมาคมได้มีมติรับทราบ เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๓ และให้สำนักงาน-พระพุทธศาสนาพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ ดังนี้ ๑. แจ้งเจ้าคณะจังหวัดทั้ง ๒ ฝ่าย ทราบ เพื่อแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดตามลำดับ สอดส่อง ดูแล กำชับให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณี ๒. แจ้งมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๘/๒๕๖๓ ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการตรวจตราการขับขี่รถยนต์ และจักรยานยนต์ของพระภิกษุสามเณรเยี่ยงประชาชนทั่วไป แต่เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถูกละเลย และยังมีพระภิกษุสามเณรขับขี่ยวดยานพาหนะ รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ อยู่เป็นเนือง ๆ นอกจากนั้น ยังมีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ในหลายพื้นที่ได้ไปยื่นคำขอต่อสำนักงานขนส่ง เพื่อขอออกใบขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จนเกิดเหตุร้องทุกข์กล่าวโทษ เนื่องจากสำนักงานขนส่งจังหวัดในบางพื้นที่เห็นว่า การออกใบขับขี่ไม่เหมาะสม เนื่องจากผู้ขอออกใบขับขี่เป็นสมณะ จากประเด็นดังกล่าวได้ปรากฏนัยสำคัญในมหาปเทส ๔ หมวดที่ ๒ เฉพาะในทางพระวินัย ๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร ๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร ๓. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร ๔. สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร(อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร การขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ถึงแม้ว่าพระวินัยไม่ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นการทำผิดพระวินัย แต่เป็นโลกวัชชะ (มีโทษทางโลกหรือความผิดทางกฎหมายบ้านเมือง) อาจนำมาซึ่งการกระทำผิด พระวินัยได้ หรือมีความผิดตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ถ้าหากขับรถยนต์โดยประมาทจนเกิดอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้ทรัพย์สิน หรือผู้อื่น ได้รับความเสียหาย หรือได้รับบาดเจ็บ หรือถึงแก่ชีวิต ต้องได้รับโทษปรับ หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตาม มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงเห็นว่าไม่เหมาะกับสมณสารูป ซึ่งเป็นสมณเพศ หรือเพศบรรพชิต อยู่ในฐานะปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธ ให้ความเคารพกราบไหว้ เป็นผู้ออกจากเรือน ไม่ควรมีอาจาระเยี่ยงคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน การขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ถึงแม้ว่าไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) (ความเป็นสมณเพศ) สิ่งนั้นไม่ควร ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติกำหนดมาตรการป้องกัน ดังนี้ ๑. ห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ๒. ห้ามกระทำการอื่นใดที่จะเอื้อต่อการขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เช่น การจัดทำใบขับขี่รถยนต์ เป็นต้น ๓. หากพบเห็นการกระทำดังกล่าวข้างต้น ให้เจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดดำเนินการพิจารณาโทษตามอำนาจหน้าที่การปกครองคณะสงฆ์ อย่างเคร่งครัด เว้นแต่การขับขี่ยานพาหนะ เพื่ออำนวยความสะดวก หรือขนย้ายข้าวของ หรือสัมภาระอื่น เพื่อกิจการของวัดภายในบริเวณวัด หรือมีเหตุจำเป็น หรือมีเหตุฉุกเฉิน อย่างยิ่ง และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม